head

ความเป็นมาของโครงการ ปี 2550

      คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 มีมติเห็นชอบนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ โดยในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศได้กำหนดให้มีการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเร่งรัดการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ได้รับทราบมติ กพช. ดังกล่าว ต่อมา กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ได้มีมติ

              - เห็นชอบในหลักการแนวทางการออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP สำหรับการจัดหาไฟฟ้าในช่วงปี พ.ศ. 2555-2557

              - มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อ ไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Bid Management Committee) ดำเนินการออกประกาศเชิญชวน การรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ต่อไป โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ได้ มีมติเห็นชอบตามมติ กพช. ดังกล่าว

      ในการดำเนินการประเมินและคัดเลือกโครงการ IPP  คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเป็นประธาน มีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นอนุกรรมการ และผู้แทน สนพ. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวและเสนอผลการประเมินคัดเลือกให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว. พน.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนออกประกาศ คณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP สรุปได้ดังนี้

             - กระทรวงพลังงานโดย สนพ. และคณะอนุกรรมการฯ ได้ออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 โดยเปิดขายเอกสารเชิญชวนฯ ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 27 กรกฎาคม 2550 กำหนดรับซองข้อเสนอโครงการวันที่ 19 ตุลาคม 2550

             - ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเป็นวันปิดจำหน่ายเอกสาร Request for Proposal Package (RFP Package) มีผู้สนใจซื้อเอกสาร RFP Package รวมจำนวน 60 ราย และเมื่อครบกำหนดการยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 ปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอโครงการรวมทั้งสิ้น 20 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 17,407 เมกะวัตต์ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ ธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 14 ราย 13,807 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง 6 ราย 3,600 เมกะวัตต์

            - กระทรวงพลังงานได้ประกาศผลการประเมินข้อเสนอทางด้านเทคนิคและอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านราคา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 โดยมีผู้ประกอบการ IPP ที่ผ่านการประเมินฯ จำนวนทั้งหมด 17 ราย และประกาศผลการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอทางด้านการเงินเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2550 และในวันเดียวกัน กพช. ในการประชุมครั้งที่ 9/2550 (ครั้งที่ 118) ได้มีมติเห็นชอบ โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) โดยขยายการรับซื้อจาก 3,200 เมกะวัตต์ เป็น 4,400 เมกะวัตต์ จำนวน 4 ราย แบ่งออกเป็น 
  • โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน 2 ราย ได้แก่

    1. บริษัท GHECO-one จำกัด กำลังผลิต 660 เมกะวัตต์ มีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และมีกำหนดวันเริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Scheduled Commercial Operation Date : SCOD) ในวันที่ 18 ตุลาคม 2554
    2. บริษัท National Power Supply จำกัด กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ (2 x 270) มีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา และมีกำหนด SCOD ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 และ 15 มีนาคม 2556
  • โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 2 ราย ได้แก่

    1. บริษัท Siam Energy จำกัด กำลังผลิต 1600 เมกะวัตต์ (2 x 800) มีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา และมีกำหนดวัน SCOD ในวันที่ 1 มีนาคม และ1 กันยายน 2555

    2. บริษัท Power Generation Supply จำกัด กำลังผลิต 1600 เมกะวัตต์ (2 x 800) มีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ที่ จ. สระบุรี และมีกำหนดวัน SCOD ในวันที่ 1 กันยายน 2556 และ 1 มีนาคม 2557

      นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ได้มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้า (IPP) ที่ได้รับการคัดเลือก และมอบหมายให้ กฟผ. รับไปลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป และหากจำเป็นให้สามารถเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อปรับวันเริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญา (SCOD) เพื่อรักษากำลังการผลิตสำรองของระบบไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย

ตาม RFP ได้กำหนดให้ กฟผ. มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคต่อกระทรวงพลังงาน หรือหน่วยงานที่กระทรวงพลังงานมอบหมาย และมีหน้าที่ร่วมให้ความเห็นในการกำหนดราคาประมาณการของสายส่งเชื่อมโยง (New Transmission Facilities Cost : NTF Cost) และ ราคาที่ดินแนวสายส่ง (Access Cost) ตลอดจนประมาณการค่าปรับปรุงระบบส่งของ กฟผ. (Transmission Facility Upgrades : TSU) เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของราคาค่าไฟฟ้าของ IPP ในการประเมินผลการคัดเลือก