Lao PDR – Thailand – Malaysia - Singapore Power Integration Project: LTMS - PIP
โครงการ LTMS-PIP (Lao PDR–Thailand–Malaysia–Singapore Power Integration Project) เป็นความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าข้ามพรมแดนที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (AMEM) เมื่อปี 2563 ซึ่งได้มีการเสนอแนวคิดขยายการค้าพลังงานไฟฟ้าจาก สปป.ลาวไปยังสิงคโปร์ผ่านระบบส่งของไทยและมาเลเซีย การพัฒนาโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานด้านพลังงานของทั้งสี่ประเทศ ได้แก่ การไฟฟ้าลาว (ฟฟล.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB), และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดไฟฟ้าของสิงคโปร์ (EMA) โดยมีการเจรจาเกี่ยวกับอัตราค่าผ่านระบบส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) และข้อกำหนดต่าง ๆ ของโครงการ โดยสุดท้ายสามารถลงนามสัญญา Energy Wheeling Agreement (EWA) ได้ในช่วงต้นปี 2565
โครงการนี้มีเป้าหมายในการส่งพลังงานไฟฟ้าจากสปป.ลาวไปยังสิงคโปร์ โดยใช้ระบบส่งผ่าน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ประกอบด้วยระบบส่งเชื่อมโยง 115 kV ระหว่าง สปป.ลาวกับไทย ระบบ HVDC ขนาด 300 kV ระหว่างไทยกับมาเลเซีย และระบบ HVAC ระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ ปริมาณไฟฟ้าที่ส่งผ่านมีขั้นต่ำ 30 เมกะวัตต์ และสูงสุดไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อวัน การซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการนี้ยังอิงอยู่กับโครงสร้างข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ได้แก่ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาวกับไทย และสัญญา HVDC System Interconnection Agreement (SIA) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ทำให้สามารถนำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินจาก สปป.ลาวเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทยในโครงการนี้คิดเป็น 3.1584 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย ซึ่งแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลัก 3 ส่วน ได้แก่ ค่าระบบส่งไฟฟ้า (Transmission Tariff) ซึ่งรวมถึงค่าบริการเสริมความมั่นคงของระบบ (Ancillary Services) และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense), ค่าระบบ HVDC และภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่มาเลเซียกำหนดอัตราค่าผ่านระบบอยู่ที่ 2.48 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย การกำหนดอัตราค่าผ่านระบบส่งไฟฟ้าดังกล่าวคำนึงถึงปัจจัยด้านต้นทุนการดำเนินงานจริง รวมถึงความสูญเสียทางเทคนิคที่เกิดขึ้นในระบบ โครงการ LTMS-PIP จึงเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) ซึ่งช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของการค้าพลังงานข้ามพรมแดนที่สามารถขยายผลไปยังโครงการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าอื่น ๆ ในอนาคต